
เบาหวาน...โรคเรื้อรังอันตราย

โรคเบาหวาน คืออะไร
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง และก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกินไป จากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้อย่างเหมาะสม (ระดับน้ำตาลที่ >126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และ HbA1C < 6.5) ปกติน้ำตาลจะเข้าสู่ร่างกายเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน และผู้ที่เป็นเบาหวานร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้เหมือนคนปกติ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

ในระยะยาวจึงอาจมีผลในการทำลายหลอดเลือด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ร่างกายคนเราก็เหมือนระบบปั๊มน้ำ (และน้ำก็คือ เลือด) ปั๊มน้ำจะทำงานอย่างปกติ แต่หากมีการทำให้น้ำในระบบเกิดความข้นขึ้น ซึ่งก็คือ การเติมน้ำตาลลงไปในเลือด จะทำให้ในระบบเลือดมีความหนืดขึ้น (ปั๊ม ก็คือ หัวใจ) ก็จะต้องทำงานหนักขึ้นและท่อน้ำหรือ หลอดเลือดก็ต้องรับแรงดันที่มากขึ้น จึงทำให้คนที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนกับอวัยวะต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดส่วนปลาย ความดันโลหิตสูง คลอเรสเตอรอลเกาะผนังหลอดเลือด หัวใจโต โรคหลอดเลือดในสมอง ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท มีอาการชาตามมือตามเท้า ภาวะแทรกซ้อนทางสายตา เบาหวานขึ้นตา จอประสาทตาเสื่อม ภาวะแทรกซ้อนทางไต และเกิดภาวะแผลเรื้อรังหายยาก

สาเหตุของโรคเบาหวาน
1. กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เป็นเบาหวานมาก่อน ก็อาจจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้
2. ความอ้วน 80% ของคนที่เป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานค่อนข้างสูง เนื่องจากไขมันส่วนเกินจะทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน
3. ความผิดปกติของตับอ่อน คนที่ดื่มเหล้าหรือรับประทานยาที่มีผลต่อตับอ่อนจะทำให้ผลิตอินซูลินได้น้อยลง
4. อาหารการกิน การทานอาหารที่เต็มไปด้วย แป้ง ไขมัน และเครื่องดื่มแต่ละชนิด ที่มีน้ำตาลมากเกินกว่าที่ร่างกายจะสามารถขจัดให้หมดไปจากร่างกายได้ใน 1 วัน
5. การออกกำลังกายน้อย การขยับตัวกันน้อยจนเกินไป ร่างกายจะขจัดน้ำตาลได้น้อย จึงทำให้น้ำตาลถูกสะสมในเลือดได้ง่าย
ประเภทของเบาหวาน
เบาหวานประเภทที่ 1 มีสาเหตุมาจาก ความบกพร่องของร่างกาย ซึ่งตับอ่อนถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันของร่างกาย การสร้างอินซูลินก็จะถูกทำลาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จึงต้องฉีดอินซูลิน เพื่อไปควบคุมน้ำตาลในเลือดระยะยาว
เบาหวานประเภทที่ 2 พบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบชัดเจน แต่ก็มีส่วนเกี่ยวกับ พันธุกรรม น้ำหนักตัวมาก และขาดการออกกำลังกาย มีลูกมาก วัยที่สูงขึ้น เซลล์ของผู้ป่วยยังมีการสร้างอินซูลินแต่จะทำงานไม่เป็นปกติ มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน จึงทำให้เซลล์ที่สร้างอินซูลินค่อยๆ ถูกทำลายไป และบางคนเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนโดยไม่รู้ตัว การรักษาอาจใช้ยาในการรับประทาน และบางรายต้องใช้อินซูลินชนิดฉีด เพื่อที่จะควบคุมน้ำตาลในเลือด
อินซูลิน เป็นฮอร์โมนที่ตับอ่อนสร้างขึ้น และมีหน้าที่สำคัญคือ นำน้ำตาลในเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายเพื่อสร้างเป็นพลังงาน แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้เต็มที่ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
ข้อควรระวัง
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจเป็นผลมาจากให้อินซูลินมากเกินไป ออกกำลังกายหรือทำงานมากกว่าปกติ รับประทานอาหารน้อยเกินไป ผิดเวลา หรือช่วงระหว่างมื้อนานเกินไป ดังนั้นก่อนที่จะฉีดอินซูลิน ควรเตรียมอาหารไว้ให้พร้อมก่อน โดยควรรับประทานอาหารหลังจากฉีดยาไปแล้วไม่เกิน 30 นาที อาการที่เกิดมีได้หลายอย่าง เช่น ปวดหัว เหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่น กระสับกระส่าย หงุดหงิด หากมีอาการเหล่านี้ให้อมลูกอม ดื่มน้ำผลไม้ หรือทานของที่มีน้ำตาลผสม (ห้ามใช้น้ำตาลเทียม)
- ควรฉีดอินซูลินบริเวณเดิมทุกวัน เพียงแต่ย้ายจุดฉีด โดยฉีดห่างจากจุดเดิมประมาณ 1 นิ้ว เพื่อป้องกันการเกิดก้อนเนื้อแข็งใต้ผิวหนัง บริเวณที่สามารถฉีดอินซูลินได้ คือ บริเวณหน้าท้อง ต้นแขน หน้าขา และสะโพก ซึ่งตำแหน่งที่อินซูลินดูดซึมได้ดีที่สุด คือ บริเวณหน้าท้อง รองลงมาคือหน้าขา และต้นแขน ตามลำดับ
- หากมีเลือดออกบริเวณที่ฉีด ไม่ควรถูหรือคลึง ให้ใช้นิ้วหรือสำลีชุบแอลกอฮอล์กดลงบนจุดที่ฉีดก็พอ เพราะจะทำให้การดูดซึมของยาเร็วขึ้น
- ควรเก็บรักษาอินซูลินไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา (อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส) โดยไม่ควรวางไว้บริเวณฝาตู้เย็น เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิค่อนข้างมาก ซึ่งอาจทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้ และก่อนฉีดนั้นควรรอให้อุณหภูมิของอินซูลินเท่ากับอุณหภูมิห้องก่อน
- หากอินซูลินที่ใช้เป็นลักษณะขุ่น ให้คลึงขวดยาบนฝ่ามือทั้งสองข้างเบาๆ เพื่อให้ยาผสมกันทั่วทั้งขวด ห้ามเขย่าขวดแรง เพราะจะทำให้เกิดฟองอากาศ และขณะที่ดูดยานั้นควรระวังอย่าให้เกิดฟองอากาศ เนื่องจากอาจทำให้มีผลต่อขนาดยาที่ได้รับด้วย
- เข็มฉีดอินซูลินที่ใช้แล้วอาจทิ้งเลย หรือใช้ได้อีก 2-3 ครั้ง จนรู้สึกเจ็บ โดยไม่ต้องทำความสะอาดเข็ม เนื่องจากจะทำให้ซิลิโคนที่เคลือบอยู่นั้นหลุดออกไป ซึ่งก่อนจะนำเข็มไปทิ้งนั้น ควรปิดปลอกเข็มให้สนิทและหาภาชนะที่มิดชิดใส่รวมไว้ให้เรียบร้อย นำมาให้โรงพยาบาลกำจัดทิ้ง เนื่องจากเป็นขยะติดเชื้อ
ทั้งนี้หากผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงหรือมีปัญหาในการใช้ยาฉีดอินซูลินนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น สามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ยา